สธ. พร้อมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 เข็มแรกในกลุ่มเสี่ยงวันที่ 11 มกราคม 2553

  • กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังระบาดอยู่ ประชาชนต้องป้องกันตนเองและเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 รายที่เชียงใหม่และบุรีรัมย์ เหตุเพราะเข้ารับการรักษาเมื่ออาการหนักแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่ 11 มกราคม 2553 เริ่มที่คนท้อง คนอ้วน 2 กลุ่มเสี่ยงสูงสุดก่อน

    นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังคงมีการระบาดอยู่ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ประชาชนยังต้องป้องกันตัวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเช่น หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วนน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรีบพบแพทย์ทันที ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน 2552 -6 ธันวาคม 2552 ได้รับรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มขึ้น 2 ราย เป็นหญิงทั้งคู่ อายุ 46 ปี และ 56 ปี อยู่ที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และที่อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ สาเหตุเสียชีวิตเนื่องจากไปโรงพยาบาลเมื่อป่วยหนักแล้ว ทำให้การรักษาไม่ได้ผล

    นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในส่วนความคืบหน้าของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่สั่งไป 2 ล้านโดสนั้น ขณะนี้ได้รับตัวอย่างมาแล้ว 10,000 โดส อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนที่อย. ที่เหลือทั้งหมดจะเข้ามาปลายเดือนธันวาคมนี้ 2 แสนโดส และครบทั้งหมดในปลายเดือนมกราคม 2553 ในการฉีดวัคซีนนั้น จะให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้กระจายวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ โดยมีคณะกรรมการวิชาการพิจารณากลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนนี้ก่อน มีการตรวจสอบหลักฐานว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงตามที่ได้สำรวจไว้ กำชับไม่ให้เกิดการบริการวัคซีนผิดกลุ่มเป้าหมาย และให้กรมควบคุมโรคติดตามการให้บริการวัคซีนอย่างใกล้ชิด

    นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลทั่วประเทศในเรื่องการเตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมาย และดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้เข้มงวดใน 4 เดือนนี้ เพื่อลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด ในสัปดาห์หน้าจะรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อีกระลอก

    ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลกมีใน 207 ประเทศ การระบาดยังคงรุนแรงในซีกโลกเหนือ แต่มีแนวโน้มทรงตัวและชะลอในบางประเทศ พื้นที่ระบาดใหม่พบในยุโรปตอนกลางและประเทศแถบตะวันออกกลาง ในส่วนของไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบมีการระบาดเป็นกลุ่มที่จ.นครสวรรค์ ขณะนี้ให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วในจังหวัดนครสวรรค์ เข้าไปควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นการด่วนแล้ว โดยนักเรียนที่ป่วยครั้งนี้ อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ได้ให้หยุดเรียนพักอยู่ที่บ้าน 7 วัน

    ตั้งแต่พฤษภาคม 2552 - 6 ธันวาคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสม 29,370 ราย เสียชีวิตรวม 189 ราย และตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะยกเลิกการรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพราะไม่ได้ตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการทุกรายเหมือนก่อน จะตรวจเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมประชุมประจำเดือนกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อชี้แจงให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด สั่งการให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในพื้นที่อย่างเข้มงวด

    ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่2009 จำนวน 31 คน เพื่อให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย

    ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เตรียมความพร้อมในการกระจายวัคซีนที่จะมา 2 แสนโดสในปลายเดือนนี้ โดยจะให้แก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดก่อนได้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ผู้มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนกลุ่มเสี่ยงอื่นๆที่เหลือจะให้ถัดไปเมื่อวัคซีนล็อตต่อไป 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส มาถึงในช่วงกลางเดือน และปลายเดือนมกราคม 2553 โดยจะเริ่มให้วัคซีนเข็มแรกแก่กลุ่มเสี่ยง ครั้งแรกในวันที่ 11 มกราคม 2553

    ขณะนี้ได้ให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศและกทม.สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีน โดยให้ส่งเป็นรายชื่อ ที่อยู่ให้ชัดเจนในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันการให้วัคซีนซ้ำซ้อน และช่วงนี้กรมควบคุมโรคจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีการเตรียมพร้อมที่จะรับวัคซีนใน 7 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ทราบว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนหรือไม่ 2. รู้ข้อห้ามในการรับวัคซีน 3. รู้ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ของวัคซีน 4. การแจ้งชื่อและลงชื่อเพื่อรับวัคซีน 5. การฉีดวัคซีนจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของกลุ่มเสี่ยง 6. สังเกตอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน 30 นาทีที่โรงพยาบาล และ7.รู้สถานที่ติดต่อเมื่อมีอาการผิดปกติอื่นๆภายหลังรับวัคซีนแล้ว

    สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่จะฉีดครั้งนี้ จะให้บริการฟรีที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วมโครงการวัคซีนฟรีในหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ที่รพ.เอกชน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าบริการฉีดวัคซีนเท่านั้นตามที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นๆกำหนด ส่วนวัคซีนฟรี นายแพทย์มานิตกล่าว
    *********************************** 9 ธันวาคม 2552

  • แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ

    [9/ธ.ค/2552]